หน้า 2


เครื่องปั้นดินดินเผา เกาะเกร็ด






           เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา ที่เกาะเกร็ด ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์แลวัฒนธรรมของชาวเกาะเกร็ดที่สืบทอดกันมาอย่างช้านานโดยถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นการสร้างรายของชาวเกาะเกร็ด ของคุณพี่น้อย นักปั้นมือทอง จากการปั้นดินสู่รายได้เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว







ความเป็นมา





 มนุษย์รู้จักประดิษฐ์ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย พบแหล่งเตาเผาที่มีอายุราวพุทธ-ศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ กระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ รวมทั้งมีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผามากมายหลายชนิด ทั้งที่ผลิตจากแหล่งเตาเผาในราชอาณาจักรไทยและที่ผลิตจากแหล่งเตาเผาต่างประเทศ เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ผลิตและตกแต่งด้วยเทคนิคและลวดลายที่แตกต่างกันออกไปตามความสามารถของช่างและวัตถุดิบในแต่ละท้องถิ่น
  ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในวงการอุตสาหกรรมเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใด แต่การทำเครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบันนี้ได้มีโดยเฉพาะรูปแบบที่พัฒนาไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราทราบเรื่องราวและประวัติเครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบันเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาค้นคว้าประวัติความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่อไป

เกาะเกร็ดตั้งอยู่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แต่เดิมเกาะเกร็ดเป็นแหลมที่ยื่นไปตามความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา มีชื่อว่าบ้านแหลม ในสมัยอยุธยาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดเกร็ดขึ้นเพื่อเป็นทางลัดจากปากเกร็ดไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดปากอ่าว (วัดปรมัยยิกาวาส) และวัดสนามไชย ด้วยความแรงของกระแสน้ำ ทำให้ลำคลองกว้างขึ้นจนบริเวณเกาะเกร็ดกลายเป็นเกาะดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
        เกาะเกร็ดเป็นย่านชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านสู่กรุงศรีอยุธยา มีฐานะเป็นชุมทางการค้า และเป็นที่ตั้งด่านตรวจเรือต่างๆ จนได้ชื่อว่าบ้านปากด้าน (คือบริเวณลัดเกร็ดตอนใต้) ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะเกร็ดส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมอญที่อพยพมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
 เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดมีชื่อเสียงของจังหวัดนนทบุรีในปัจจุบันนั้นเป็นผลงานการสรรค์สร้างของช่างพื้นบ้านชาวไทยรามัญ หรือคนไทยเชื้อสายมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารขององค์พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวไทยรามัญเหล่านี้มีความชำนาญในการปั้นถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประเภท รูปทรง ลวดลาย และกรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของแต่ละแห่ง จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างกันตามถิ่นที่ตั้งชุมชน โดยชาวไทยรามัญที่อาศัยอยู่ในตำบลบางตะนาวศรี หรือตำบลสวนใหญ่ในปัจจุบันนั้นจะนิยมปั้นหม้อแกง เตาหุงข้าว เตาขนมครกจากขนมครก และของใช้ในครัวเรือน ส่วนชาวไทยรามัญที่อาศัยอยู่บริเวณเกาะเกร็ดและท้องที่อำเภอปากเกร็ดนิยมปั้นเครื่องปั้นทั่วๆไป เช่น โอ่ง อ่าง กระถาง และครก นอกจากนี้ ยังนิยมปั้นเครื่องปั้นที่มีลวดลายสวยงามโดยเฉพาะโอ่งน้ำ หม้อน้ำ และหม้อข้าวแช่ ซึ่งในอดีตเครื่องปั้นประเภทนี้จะทำขึ้นในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น ทำให้แก่ผู้มีพระคุณ เพื่อเป็นที่ระลึกหรือทำถวายพระ โดยปั้นเป็นหม้อน้ำดื่มและหม้อน้ำมนต์ มีการประดิษฐ์คิดค้นลวดลายและแกะสลักลงบนเครื่องปั้นอย่างงดงาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “หม้อน้ำลายวิจิตรหม้อน้ำลายวิจิตรนี้เป็นงานศิลปะพื้นบ้านที่เชิดหน้าชูตาจังหวัดเป็นอย่างมาก กระทั่งราชการได้นำมาเป็นตราประจำจังหวัดนนทบุรีด้วย

กระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผา 





 กรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด เริ่มจากการเตรียมดิน ซึ่งเดิมดินที่ใช้ปั้นนั้นนำมาจากเกาะเกร็ด แต่ปัจจุบันช่างปั้นต้องซื้อดินจากอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี นำดินมาหมักและย่ำจนเหนียว นวดให้นิ่ม หากเป็นเครื่องปั้นดินประเภทกระถางหรือภาชนะที่ไม่จำเป็นต้องทำลวดลายต้องผสมทรายละเอียดลงในดินด้วย เพื่อช่วยให้เครื่องปั้นนั้นแข็งแกร่ง ไม่แตกง่าย แล้วจึงนำดินที่ผสมและนวดเสร็จแล้วเข้าเครื่องอัดดินออกมาเป็นแท่งๆ ใช้ลวดตัดแท่งหรือเสาดินนั้นออกมาเป็นส่วนๆ แล้วจึงมานำมาปั้นบนแป้นไม้และหมุนด้วยไฟฟ้า สำหรับการปั้นโอ่งขนาดใหญ่ เช่น โอ่งน้ำ จะต้องปั้นทีละท่อน โดยรอให้ท่อนล่างมีความแข็งตัวพอที่จะรับน้ำหนักท่อนบนได้ แล้วจึงจะปั้นต่อท่อนบนขึ้นไปจนเต็มรูปตามต้องการ เมื่อปั้นเสร็จ ช่างจะนำไปตามแดดพอหมาดๆ จากนั้นคว้านเจาะรูระบายน้ำ นำไปตากให้แห้งอีกครั้ง แล้วจึงนำเข้าเตาเผา ส่วนเครื่องปั้นประเภทที่มีลวดลายสวยงามนั้น ช่างปั้นจะนำมาทำลวดลาย ซึ่งมีหลายวิธี เช่นแกะสลักลวดลายลงบนผิวเครื่องปั้น การฉลุ การใช้พิมพ์ที่แกะไว้แล้วนำไปกดลงบนตัวเครื่องปั้น และการขูด ขีด ให้เกิดลายเส้น เป็นต้น ลวดลายที่นิยมตกแต่งมีหลายลาย ได้แก่ ลายดอกพิกุล ลายพวงมาลัย ลายกลีบบัว ลายเครือเถา ลายกระจังตาอ้อย ลายกระหนก ลายดอกพุดตาน ลายสร้อยคอ ลายลานบุปผา ลายแต้ม ฯลฯ เมื่อลงลายเสร็จก็นำมาขัดผิว โดยใช้หินเนื้อละเอียด ใบตองแห้ง หรือถุงพลาสติก ขัดส่วนที่ไม่มีลวดลายให้เรียบมัน แล้วนำไปเก็บในที่ร่ม เอาถุงพลาสติกคลุมไม่ให้ถูกลม เพราะจะทำให้ผิวหม่น แล้วจึงนำออกตากแดดในช่วงที่แดดดี ตากให้ถูกแดดเท่ากันทุกส่วน เมื่อเครื่องปั้นแห้งดีแล้ว จึงนำมาเรียงเข้าเตาเผาให้เต็มเตา ซึ่งเตาเผาของบ้านเกาะเกร็ดนี้มีขนาดใหญ่ ภายในเตากว้างมาก สามารถใส่เครื่องปั้นได้เป็นจำนวนมาก ฟืนที่ใช้มีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะทำให้เครื่องปั้นมีสีแตกต่างกัน เช่น ฟืนที่ได้จากกะโหลกมะพร้าวจะทำให้เครื่องปั้นมีสีแดงเข้ม ไม้ฟืนจากโรงเลื่อยจะทำให้เครื่องปั้นมีสีเหลือง และฟืนไม้ทองหลางจะทำให้เครื่องมีสีส้มอมแดง แต่ปัจจุบันช่างปั้นส่วนใหญ่จะใช้ไม้ฟืนจากโรงเลื่อย เพราะหาง่ายและราคาไม่แพงมากนัก

ขั้นตอนในการทำเครื่องปั้นดินเผา 

            วัตถุดิบ 
                  วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ดคือ ดินเหนียว โดยทั่วไปจะใช้ดินเหนียวท้องนา หรือดินเหนียวที่มีอยู่ทั่วไปบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ สำหรับแหล่งดินเหนียวคุณภาพดี แต่เดิมใช้ดินเหนียวในพื้นที่ ปัจจุบันต้องซื้อดินเหนียวจากอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งซื้อขายกันเป็นลำเรือ ราคาลำละ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ บาท

แหล่งที่มาของวัตถุดิบ 
             ดินเหนียวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการนำมาผลิตเครื่องปั้นดินเผา ได้แก่ ดินเหนียวท้องนา และดินเหนียวตะกอนปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นดินเหนียวที่มีเนื้อละเอียด มีทรายและเศษวัสดุอื่นๆ ปนอยู่น้อย จึงทำให้ไม่เสียเวลากรองเอาสิ่งเจือปนออกมามากนัก ปัจจุบันแหล่งดินเหนียวคุณภาพดีเริ่มหายากขึ้น เพราะที่ดินมีราคาแพง ทำให้ผู้ที่ขุดดินมาขายต้องจ่ายค่าเช่าที่เพื่อทำบ่อดินในราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วยแหล่งดินเหนียวคุณภาพดี ได้แก่ แหล่งดินเหนียวตะกอนปากแม่น้ำในอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

การเลือกวัตถุดิบ 
             โดยทั่วไปดินเหนียวจากอำเภอสามโคกนั้น จะเป็นดินเหนียวที่อยู่ลึกลงไปจากระดับหน้าดินเกินกว่า ๒๐ เซนติเมตร เพราะดินบริเวณหน้าดินจะมีอินทรีย์สารและดินเลนผสมอยู่มากเกินไป ดินจึงมีความเหนียวน้อย ไม่เหมาะที่จะนำมาทำเครื่องปั้นดินเผา ดังนั้น หน้าดินส่วนนี้จะถูกขุดลอกทิ้ง ดินที่ลึกจากระดับ ๓๐ เซนติเมตร ลงไปอีก ๘๐ เซนติเมตร หรือลึกไม่เกิน ๑ เมตร ๑๐ เซนติเมตร จะเป็นดินเหนียวที่มีคุณภาพดี สามารถนำมาผลิตเครื่องปั้นดินเผาได้ ส่วนชั้นดินที่ลึกลงไปเกิน ๑ เมตร ๑๐ เซนติเมตร ก็จะมีทรายปนอยู่มากเกินไปจนไม่สามารถนำมาผลิตเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดีได้

วัสดุอุปกรณ์

๑.เครื่องกวนดิน
๒.ตะแกรงกรองกรวดทราย
๓.เครื่องรีดน้ำ
๔.เครื่องนวดดิน
๕.แป้นหมุนขึ้นรูป
๖.แป้นแกะสลัก
๗.เตาแบบใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง หรือเตาไฟฟ้า
๘.เครื่องมือแกะสลักลวดลาย

การเตรียมวัตถุดิบ 

           ๑. ดินเหนียวที่ได้มักจะมีความชื้นไม่เท่ากันในแต่ละฤดูกาล อาทิ ฤดูน้ำหลาก บ่อดินจะถูกน้ำท่วม ดินที่ขุดขึ้นมาจึงเปียกน้ำมาก ดังนั้น จึงต้องนำดินมาพักไว้ให้แห้งประมาณ ๑ สัปดาห์ และเพื่อให้ดินเหนียวแห้งเร็วยิ่งขึ้น ก็จะต้องใช้เสียมแซะให้ก้อนดินเหนียวมีขนาดเล็กลง
           ๒. เมื่อดินแห้งได้ที่แล้ว นำดินมาหมักแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ ๕-๗ วัน
           ๓. จากนั้นจึงนำดินที่หมักไว้มาเข้าเครื่องกวนให้ดินแตกตัวเข้ากับน้ำ ซึ่งดินที่เข้าเครื่องกวนแล้วก็จะกลายเป็นน้ำดินโคลน
           ๔. ตักน้ำดินจากเครื่องกวนมากรองผ่านตะแกรง เพื่อกรองเอากรวดทราย รากไม้ และเศษวัสดุที่ไม่ต้องการออก ก็จะได้น้ำดินที่มีความเข้มข้นสูง
           ๕. นำน้ำดินที่ผ่านการกรองแล้วเข้าเครื่องรีดน้ำดิน โดยตักน้ำดินใส่ถังซึ่งมีท่อต่อเข้ากับเครื่องรีดน้ำดิน น้ำดินก็จะถูกดูดเข้าเครื่อง แล้วเครื่องก็จะค่อยๆ บีบอัดเอาน้ำออกจากดินซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๗ ชั่วโมง ก็จะได้ดินเหนียว ๑๐๐ กิโลกรัม ดินที่ออกจากเครื่องรีดน้ำจะต้องพักไว้เพื่อรอเข้าเครื่องนวดดิน โดยจะต้องมีผ้าพลาสติกมาคลุมไว้เพื่อไม่ให้ดินแห้งเร็วเกินไป
           ๖. นำดินมาเข้าเครื่องนวดดิน เพื่อคลุกเคล้าให้ดินเข้ากันเป็นเนื้อเดียวและมีความชื้นเท่ากัน นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความเหนียวให้กับดินอีกด้วย
           การนวดดิน ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเตรียมวัตถุดิบ ดินที่ผ่านการนวดแล้ว จะมีเนื้อดินที่ละเอียด เหนียว และมีความชื้นพอเหมาะสำหรับการนำไปปั้นขึ้นรูป

การขึ้นรูปและวิธีการทำ
        ๑. การปั้นขึ้นรูปโดยแป้นหมุน นำดินที่ผ่านการนวดแล้วมาปั้นขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนโดยค่อยๆ ใช้มือบีบดินให้ขึ้นรูปเป็นภาชนะตามต้องการ การปั้นขึ้นรูปในลักษณะนี้จะต้องอาศัยความชำนาญของช่างปั้น ซึ่งช่างปั้นแต่ละคนอาจจะมีเทคนิคหรือวิธีการที่แตกต่างกันออกไปอาทิ การใช้เกรียงหรือผ้าชุบน้ำเพื่อทำให้พื้นผิวของชิ้นงานเรียบ หรือใช้เล็บมือทำลวดลายบนชิ้นงาน 
         ๒. การปั้นชิ้นงานที่มีรูปแบบเหมือนกัน ในปริมาณมากๆ ให้ได้ขนาดที่เท่ากัน หรือมีขนาดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ก็อาจจะใช้ไม้ชิ้นเล็กๆ มาวัดขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางเพื่อให้ได้ขนาดที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด
         ๓. เมื่อขึ้นรูปชิ้นงานเสร็จแล้วใช้เส้นลวดขนาดเล็กตัดชิ้นงานขึ้นจากแป้นหมุน นำไปวางผึ่งลมพักไว้ ๑๒ ชั่วโมง หรือจนแห้งพอที่จะแกะลายได้ 
         ๔. ขูดแต่งพื้นผิวของชิ้นงานให้เรียบเสมอกัน 
         ๕. นำชิ้นงานที่แห้งพอที่จะแกะลายมาร่างโครงของลวดลายจนรอบทั้งชิ้นงาน

         ๖. เริ่มแกะลายโดยใช้มีดปลายแหลมเน้นลวดลายให้ชัดขึ้นแล้วค่อยๆ เพิ่มรายละเอียดของลวดลายจนเสร็จสมบูรณ์
         ๗. นำชิ้นงานที่แกะลายเรียบร้อยแล้วมาขูดแต่งพื้นผิวให้เรียบ และเก็บรายละเอียดเป็นครั้งสุดท้าย
         ๘. นำชิ้นงานที่แกะลายเรียบร้อยแล้วผึ่งลมทิ้งไว้ประมาณ ๕-๗ วัน
         ๙. เมื่อชิ้นงานที่ผึ่งลมทิ้งไว้แห้งแล้วจึงนำเข้าเตาเผาโดยใช้อุณหภูมิในการเผาประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ ๑ วัน จากนั้นจึงพักเตาให้ความร้อนค่อยๆ คลายตัวอย่างช้าๆ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ ๑ วัน จากนั้นจึงนำเครื่องปั้นดินเผาออกจำหน่าย

วิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ด




         การถ่ายทอดวิธีการปั้นเครื่องปั้นดินเผาใช้วิธีในการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น หรือผู้ที่มีความชำนาญถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป และมีความต้องการที่จะเรียนรู้ในการปั้นเครื่องปั้น
  ดินเผาของชุมชนเกาะเกร็ด การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างการปั้นเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งในแต่ละกลุ่มนั้นได้มีการแบ่งกลุ่ม โดยใช้ช่วงอายุเป็นเกณฑ์ การแบ่งกลุ่มให้ได้รายละเอียดเพิ่มมากขึ้น อีกสามกลุ่ม คือ กลุ่มคนรุ่นเก่า กลุ่มคนรุ่นกลาง และกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมทั้งหมดจำนวน ๖ ราย ผลการวิจัยพบว่า วิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ดนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดภายในครอบครัว ซึ่งเป็นการถ่ายทอดจากพ่อ แม่ สู่ลูก หรือการถ่ายทอดระหว่างเครือญาติ หมายถึง การถ่ายทอดจากปู่ย่า ตายาย สู่หลาน และการถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญ หมายถึง การถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญสู่ลูกศิษย์ และการเรียนรู้ด้วยตนเอง หมายถึง บุคคลนั้นๆ มีความต้องการที่จะศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง จากสิ่งที่ได้พบเห็น และได้จดจำ ซึ่งในกรณีนี้เรียกว่า ครูพักลักจำ

         วิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ดนิยมทำกันแบบการถ่ายทอดภายในครอบครัว ซึ่งหมายถึง วิธีการสืบทอดจากรุ่นบรรพบุรุษปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ รุ่นลูกรุ่นหลานนั้น เพื่อเป็นการปลูกฝังและสืบทอดภูมิปัญญาต่อเพื่อไม่ให้สูญไป ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความสำคัญสถาบันครอบครัวนั้น มีผลอย่างยิ่งในการถ่ายทอดความรู้ เทคนิควิธีการปั้นเครื่องปั้นดินเผา ทำให้เกิดมีอาชีพและรายได้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนขั้นตอนในการถ่ายทอดมักจะเป็นไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว เวลาว่างหรือเลิกเรียนตอนเย็น วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ผู้ใหญ่หรือคนที่มีความรู้ความชำนาญ มักจะชักชวนลูกหลานให้ฝึกทำหรือบางทีให้มาช่วยงานปั้น มีการสาธิตวิธีการทำ เทคนิค อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เด็กช่วยจำและถือว่าเป็นการปลูกฝังไปในตัว เพราะตั้งแต่เกิดมาบางครอบครัวก็คลุกคลีอยู่กับอาชีพของผู้ปกครอง หรือญาติเพื่อนบ้าน เกิดความเคยชินและต้องการสืบสานภูมิปัญญาที่มีมาแต่รุ่นบรรพบุรุษ ปลูกจิตสำนึกให้รักบ้านเกิดและอาชีพที่ใช้ในการทำมาหากินและเลี้ยงดูชีวิตครอบครัวในทุกๆวันที่มีอยู่ได้ เพราะอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผา

สรุป

 หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ด ต้นกำเนิดมาจากการที่ชาวรามัญหรือชาวไทยเชื้อสายมอญได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น อาศัยอยู่ที่เกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เครื่องปั้นดินเผาเกิดจากความต้องการที่ต้องการมีเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงวิถีชีวิต และเดิมทีชาวบ้านส่วนใหญ่มีความชำนาญการปั้นเครื่องปั้นดินเผา โดยเริ่มแรกชาวบ้านได้เริ่มผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนเช่น โอ่ง อ่าง กระถาง หม้อข้าว หม้อขนมครก และครก เดิมใช้เครื่องปั้นดินเผาสามารถเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนหรือข้าวสารแทนได้ จนพัฒนาก่อตั้งเป็นโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาประกอบธุรกิจขนาดเล็ก และมีการทำในหลายๆครัวเรือนและได้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ในปัจจุบันเป็นรุ่นที่สืบทอดเป็นรุ่นที่ ๔ ย่างรุ่นที่ ๕
 “หม้อน้ำลายวิจิตรหรือที่ช่างปั้นเรียกกันว่า เนิ่ง ยังคงเป็นเครื่องปั้นที่คงลวดลายงดงาม ประณีต เครื่องปั้นมีสีแดงส้ม และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และมีการพัฒนาลวดลายมากขึ้น เพื่อให้มีความหลากหลาย เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค เนิ่งจะมีส่วนประกอบ ๓ ส่วน คือ ฝา ตัว และฐาน ลวดลายส่วนใหญ่จะปรากฏบริเวณฐาน คอ ตัว และฝา ความงดงามมีเอกลักษณ์เฉพาะของเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ดจึงเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม และเป็นงานศิลปะพื้นบ้านยกย่องที่สร้างชื่อให้แก่จังหวัดนนทบุรี และได้นำมาเป็นตราประจำจังหวัดนนทบุรี
 การถ่ายทอดภูมิปัญญากรรมวิธีการปั้นเครื่องปั้นดินเผา ใช้วิธีการสอนสืบทอดรุ่นสู่รุ่น ปลูกฝังลูกหลานตั้งแต่ยังเยาว์วัย ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินที่เป็นมรดกตกทอดสู่หลัง การปั้นเครื่องปั้นดินเผาสมัยใหม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ และมีการพัฒนาเครื่องปั้นหลากหลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะกับสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การคิดสรรค์สร้างลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ด จะทำให้ช่วยให้ดึงดูดความสนใจให้ผู้หันมาชื่นชอบงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ยังคงรูปทรงที่มีเค้าดั้งเดิมและอนุรักษ์ศิลปะชิ้นนี้สืบต่อไป

ปัญหาและอุปสรรค 

         หัตกรรมเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ด ปัญหาที่กลุ่มผู้วิจัยพบและจากการสัมภาษณ์ผู้รู้พบว่า ดินเหนียวที่ใช้ทำเครื่องปั้นหาค่อนข้างยากและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง และต้องรอนานพอสมควรกว่าดินจะมาส่งถึง และในบางช่วงดินขาด หรือมีอุปสรรคปัญหาต่างๆ เช่น เกิดน้ำท่วม ดินไม่อุดมสมบูรณ์พอเหมาะ จึงทำให้ไม่สามารถขุดเอาดินมาขายได้ และวัสดุอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ทำบางส่วนสูญหายไป เนื่องด้วยเทคโนโลยีต่างๆที่เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนขั้นตอนการทำ เช่น เดิมทีเคยใช้ฟืนในการก่อไฟเพื่อเผาเครื่องปั้น แต่ปัจจุบันฟืนหาซื้อได้ยากและมีราคาแพง จึงจำต้องใช้เครื่องเผาไฟฟ้าแทน อีกประการหนึ่งเนื่องจากเกาะเกร็ดล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา เวลาที่มีน้ำหนุนสูง จะทำให้ได้รับผลกระทบน้ำท่วมโดยตรง เครื่องปั้นดินเผาหรือวัสดุอุปกรณ์บางส่วนได้รับความเสียหาย และไม่สามารถประกอบกิจการได้ชั่วคราว

ข้อเสนอแนะ 

         หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ด ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แม้ว่าจะมีประวัติมายาวนานก็ตาม เครื่องปั้นดินเผาก็มีอยู่หลายๆที่ของประเทศไทย แต่มีคนส่วนน้อยที่รู้จักเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ด ในปัจจุบันการสรรหาบุคคลที่มาเรียนรู้และสืบทอดสานต่อภูมิปัญญาการปั้นเครื่องปั้นดินเผา นับว่าหายากเต็มที ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชนเกาะเกร็ด หรือนอกชุมชน ไม่ค่อยให้ความสำคัญสนใจที่จะเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่มีมาเป็นเวลายาวนานหลายช่วงอายุคน เนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ผู้คนหันไปสนใจในอาชีพอื่นๆ ความต้องการของตลาดลดน้อยลง ประกอบกับหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ดนั้น ไม่มีการถ่ายทอดความรู้การปั้นดินเผาอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการรณรงค์และการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี เพราะเน้นการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเสียมากกว่า ขาดการต่อยอดผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมให้อนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ส่งผลให้มีแนวโน้มของการถ่ายทอดภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ดนั้นไม่มีการสืบทอดต่อ อาจถึงคราวต้องปิดตำนานเครื่องปั้นดินเผาอันลือชื่อของจังหวัดนนทบุรี อาจมีผลต่อการที่ต้องเปลี่ยนสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนนทบุรีตามไปด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสิ้นสุดของภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ดในไม่ช้า หากไม่ได้รับความร่วมมือ การถ่ายทอดภูมิปัญญา และการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น